top of page

กาแล็กซีเพื่อนบ้าน

        กาแล็กซีไม่ได้อยู่กระจายทั่วไปเท่าๆ กันในจักรวาล หากแต่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นกระจุก  นักดาราศาสตร์เรียกกลุ่มของทางช้างเผือกและกาแล็กซีเพื่อนบ้านว่า กลุ่มท้องถิ่น (Local Group) ซึ่งมีขนาดประมาณ 4 ล้านปีแสง ดังภาพที่ 1  

 

ภาพที่ 1 กลุ่มท้องถิ่น

        ทางช้างเผือกเป็นกาแล็กซีขนาดปานกลาง มีกาแล็กซีบริวารขนาดเล็ก ได้แก่ เมฆแมกเจลแลนใหญ่ เมฆแมกเจลแลนเล็ก ดังภาพที่ 2 และกาแล็กซีแคระอีกจำนวนหนึ่ง ในต้นคริสตศตวรรษที่ 16  เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน (Ferdinand Magellan) นักสำรวจชาวโปรตุเกส ได้ล่องเรือลงมายังตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ได้สังเกตว่า ใกล้ขั้วฟ้าใต้มีเมฆขาว 2 แห่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายทางช้างเผือกแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก จึงตั้งชื่อว่า เมฆแมกเจนแลนใหญ่ (Large Magellenic Cloud) และ เมฆแมกเจนแลนเล็ก (Small Magellenic Cloud)  ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า เมฆแมกเจลแลนทั้งสองคือกาแล็กซีไร้รูปทรง ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นบริวารของกาแล็กซีทางช้างเผือก  เมฆแมกเจลแลนใหญ่มีขนาดประมาณ 17,000 ปีแสง อยู่ห่างจากกาแล็กซีทางช้างเผือก 160,000 ปีแสง   เมฆแมกเจลแลนเล็กมีขนาดประมาณ 7,500 ปีแสง อยู่ห่างจากกาแล็กซีทางช้างเผือก 200,000 ปีแสง

 

ภาพที่ 2 ทางช้างเผือก (ซ้าย) เมฆแมกเจลแลนใหญ่ (ขวาบน) เมฆแมกเจลแลนเล็ก (ขวาล่าง) 

ที่มา: European Southern Observatory

 

          กาแล็กซีแอนโดรมีดา (M31 Andromeda Galaxy) เป็นกาแล็กซีเพื่อนบ้านซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกเล็กน้อย   ซึ่งอยู่ห่างออกไป 2.9 ล้านปีแสง  สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในตำแหน่งของกลุ่มดาวแอนโดรมีดา โดยมีโชติมาตรปรากฎ 3.4    M31 เป็นกาแล็กซีกังหันขนาดใหญ่ซึ่งมีกาแล็กซีบริวารคือ M32 และ M110 ดังที่แสดงในภาพที่ 3  นักดาราศาสตร์พบกว่ากาแล็กซีแอนโดรมีดาและกาแล็กซีทางช้างเผือกกำลังเคลื่อนที่เข้าหากัน และจะปะทะกันในอีกประมาณ 3 - 5 พันล้านปีข้างหน้า 

M31 กาแล็กซีแอนโดรมีดา, M32 (จุดสว่างด้านบน) และ M110 (ฝ้าสว่างด้านล่าง) 

        นอกจากนั้นยังมีกาแล็กซีกังหันขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง คือ กาแล็กซีดุมล้อ (M33 Pinwheel Galaxy) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 3 ล้านปีแสง  โชติมาตรปรากฎ 5.7  สามารถใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กส่องดูได้ในตำแหน่งของกลุ่มดาวสามเหลี่ยม (Triangulum)  หากสังเกตดูในภาพที่ 3 จะเห็นว่า แขนกังหันของกาแล็กซีมีทั้งเนบิวลาสว่างสีแดง เนบิวลาสะท้อนแสงสีฟ้า ซึ่งล้วนเป็นแหล่งกำเนิดของดาวฤกษ์ทั้งสิ้น นักดาราศาสตร์จึงตั้งข้อสังเกตว่า กาแล็กซีรูปกังหันเปรียบเสมือนโรงงานผลิตดาว  เป็นกาแล็กซีที่มีอายุน้อยและเต็มไปด้วยประชากรดาวเกิดใหม่ 

 

ภาพที่ 3 กาแล็กซีดุมล้อ (M33 Pinwheel Galaxy)

 

bottom of page